ข้อมูลบริษัท

โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยมีนายวิเชียร ตั้งตรงเวชกิจผู้ริเริ่มปลูกอ้อยและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดบุรีรัมย์

58 ปี

ก่อตั้ง

กำลังการผลิต
24,000
ตันอ้อยต่อวัน

ปริมาณอ้อยเข้าหีบ
2.4 - 3.0
ล้านตันอ้อยต่อฤดูกาล

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (“BRR”) เดิมชื่อ บริษัท โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง (2506) จำกัด (ได้รับโอนกิจการมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง) จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2506 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลทรายแดง ที่จังหวัดบุรีรัมย์

บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (“BRR”) และบริษัทย่อย เป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายวิเชียร ตั้งตรงเวชกิจ ผู้ริเริ่มปลูกอ้อยและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยในจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวสีรำ และน้ำตาลทรายดิบทั้งในและต่างประเทศ นานกว่า 5 ทศวรรษ รวมถึงการนำผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น กากอ้อย กากหม้อกรอง และกากน้ำตาล ต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจร ประกอบด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ย และธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาอ้อย และธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นธุรกิจสนับสนุน

เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ

กลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ โดยวางแผนในระยะสั้นและระยาว รวมทั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ได้วางไว้

สร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีแก่ชาวไร่อ้อย

ตามที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีแก่ชาวไร่อ้อย โดยส่งเสริมการปลูกอ้อยและขยายพื้นที่เพาะปลูกกว่า 250,000 ไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตกว่า 3 ล้านตัน ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานคุณภาพอ้อยให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดนั้น ตั้งแต่ปี 2560/61 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3.15 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิต ปี 2559/60 ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบจำนวน 2.2 ล้านตัน อยู่ประมาณ 940,000 ตัน สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อย (ปีการผลิต 2560/61) มีพื้นที่ประมาณ 239,523 ไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2559/60 จำนวน 54,411 ไร่ (ปีการผลิต 2559/60 มีพื้นที่จำนวน 185,112 ไร่) รวมทั้งมีจำนวนชาวไร่คู่สัญญาในปี 2560/61 จำนวน 11,780 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีจำนวน 11,023 ราย และในด้านคุณภาพอ้อย ปี 2560/61 มีค่าความหวานของอ้อย (“CCS.”) อยู่ที่ 13.71 และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ 119.88 กิโลกรัม ต่อตันอ้อย

แม้ว่าฤดูการผลิตปี 2561/62 จะประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนักทำให้มีจำนวนชาวไร่คู่สัญญาลดลงเป็นจำนวน 11,749 ราย และมีพื้นที่ปลูกอ้อย 238,074 ซึ่งลดลงจากปี 2560/61 เล็กน้อย แต่ด้วยการพัฒนาและรักษามาตรฐานคุณภาพอ้อย ควบคู่กับการให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตอ้อยในปีดังกล่าวลดลงไม่มากนักจากปี 2560/61 โดยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 2.93 ล้านตัน และมีค่าความหวานของอ้อย (“CCS.”) อยู่ที่ 13.61 และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ 120.54 กิโลกรัม ต่อตันอ้อย

ด้วยการบริหารจัดการดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่ประเทศไทยและภาคอีสานยังคงประสบภาวะภัยแล้งอย่างหนัก บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวนเพียง 1.79 ล้านตัน แต่ยังคงมีค่าความหวานของอ้อย (“CCS.”) อยู่ที่ 13.75 และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ 121.92 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งสามารถรักษาคุณภาพความหวานเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำตาลที่มากขึ้นในขณะที่มีปริมาณอ้อยลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้หยุดพัฒนาในเรื่องดังกล่าว เพราะบริษัทเข้าใจดีว่าวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับธุรกิจน้ำตาลทราย และธุรกิจที่ได้มาจากสิ่งเหลือจากกระบวนการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทราย บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณอ้อยเข้าหีบจาก 1.75 ล้านตัน เป็น 3.0 ล้านตันในปี 2566

ขยายการลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาธุรกิจสิ่งเหลือจากกระบวนการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทราย

ในฤดูการผลิตปี 2562/63 บริษัทได้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการส่งออกให้กับโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุด 1,200 ตันต่อวัน โดยมีมูลค่าการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 393.75 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ในปี 2562 บริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ BEC, BPC และ BPP นอกจากนั้น BPP ได้ขายไฟฟ้าให้กับโรงงานน้ำตาล เพื่อรองรับกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรองรับการจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีกด้วย ถ้าหาก กฟภ. เปิดรอบการเจรจารับซื้อไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านระบบและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ความพร้อมของวิสาหกิจชุมชน และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หากภาครัฐเปิดให้ยื่นข้อเสนอเพื่อพิจารณาคุณสมบัติรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการ Quick Win)

สำหรับธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากชานอ้อย รวมทั้งการผลิตเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (“SEW”) ดำเนินธุรกิจอยู่นั้นได้ผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่ง SEW มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยประมาณ 200 - 250 ล้านชิ้นต่อปี โดยบรรจุภัณฑ์หลักจะเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์ และ SEW ยังสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการได้ อาทิ บรรจุภัณฑ์สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ SEW มุ่งเน้นทำตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก แต่จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์โดยการหาตลาดใหม่ภายในประเทศเพื่อทดแทนยอดขายของการส่งออกแต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2563 สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายดีขึ้น จึงมีลูกค้าต่างประเทศเข้ามาตรวจและประเมินการผลิตของบริษัท และขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาทางการค้าเพิ่มเติม ส่วนแผนการผลิตเยื่อของบริษัท บริษัทได้ก่อสร้างโรงงานเยื่อขนาดเล็กเพื่อทำการวิจัยและทดลองการผลิตเยื่อชานอ้อยแล้วเสร็จในปี 2563 ทั้งนี้ บริษัทกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงเยื่อขนาดใหญ่ เพื่อผลิตเยื่อชานอ้อยสำหรับเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ของบริษัทเอง โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 หากบริษัทผลิตเยื่อได้เองจะมีต้นทุนวัตถุดิบในราคาที่ต่ำลง

บริษัทมุ่งมั่นรักษามาตรฐานและความเป็นหนึ่งในด้านการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพผลผลิตอ้อย เพื่อผลิตน้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งเหลือจากกระบวนการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะบริษัทเข้าใจดีว่าวัตถุดิบ คือ ความเสี่ยงสูงสุดของธุรกิจ ดังนั้น หากมีระบบการบริหารจัดการและควบคุมดูแลได้อย่างมีเสถียรภาพแล้ว จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในด้านกิจการโรงงานน้ำตาล บริษัทมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต ตามสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของตลาดในขณะนั้น นอกจากนี้ บริษัทได้ศึกษาความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์เอทานอล, กัญชง, กัญชา และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจประเภทใหม่ ๆ เพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ

การดำเนินธุรกิจขององค์กรให้เติบโตและก้าวหน้าอย่างยั่งยืนนั้น นอกจากความเก่งและความสามารถในการทำกำไรเพียงอย่างเดียวคงมิอาจทำให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องประกอบด้วยการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม การดูแลเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการเรียนรู้ พัฒนาตนเองและคิดค้นต่อยอดสิ่งใหม่อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ จึงมุ่งมั่นพัฒนา 5 ด้านดังนี้

  1. การพัฒนาบุคลากร

    บุคลากรเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนา บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือจึงให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคล ทั้งในด้านการจัดหาบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน โดยคำนึงถึงกระบวนการสรรหาพนักงานจากภายในและภายนอกองค์กรที่มีความสามารถเหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง พร้อมทั้งติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง และการรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่มีความสำคัญ อีกทั้งมีการควบคุมให้พนักงานปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัท, “คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ” และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนการทำให้บุคลากรในองค์กรตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และ มีส่วนรวมในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนั้น บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ได้กำหนด “นโยบายการพัฒนาบุคลากร” ซึ่งรวบรวมอยู่ใน “คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5” ซึ่งประกาศและนำใช้นโยบายดังกล่าวในปี 2564

  2. การพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อย

    ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กลุ่มบริษัทมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีแก่ชาวไร่อ้อย ตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” ดังนั้น กลุ่มบริษัทจึงได้ส่งเสริมและพัฒนาชาวไร่อ้อยให้มีความรู้ในการบริหารจัดการอ้อยทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การบำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยว รวมถึงความรู้ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้บริหารจัดการอ้อย และการนำคณะชาวไร่อ้อยไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มาต่อยอดและประยุกต์ใช้ การพัฒนาในด้านนี้ถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สามารถเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกร และยังสามารถลดความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบและสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตให้แก่กลุ่มบริษัทได้อีกด้วย นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทยังมีแนวคิดเปลี่ยนเกษตรกร เป็น “นักธุรกิจชาวไร่” โดยแนวคิดดังกล่าวมุ่งให้เกษตรกรสามารถวางแผนและบริหารจัดการในการเพาะปลูกอ้อยและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้และการส่งเสริมจากกลุ่มบริษัท อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างให้อาชีพเพาะปลูกอ้อยเป็นอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ที่ดี มีความสุขในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ และสามารถสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น

  3. การพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี

    ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุง และเสริมศักยภาพในการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท และเกษตรกรชาวไร่อ้อย กลุ่มบริษัทมีการบริหารจัดการระบบไร่ออนไลน์ (Online) การจัดทำระบบสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) รวมทั้งระบบจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ แบบ MIS (Management Information System) และระบบแผนที่แปลงอ้อย GIS (Geographic Information System) รวมทั้งนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย และตรวจติดตามรายแปลงอ้อยได้ตามหลักวิชาการ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืชและศัตรูพืช อาทิ งานวิจัยการควบคุมการระบาดของโรคและแมลง โดยใช้วิธีธรรมชาติและมีการเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน เพื่อควบคุมการระบาดของหนอนกออ้อย และเชื้อราเขียว เพื่อกำจัดด้วงหนวดยาว เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามนโยบายเกษตรยุคไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ของรัฐบาล ที่เน้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยล่าสุดผู้เชี่ยวชาญของบริษัทได้มีงานวิจัยด้านการผลิตเยื่อชานอ้อย และหากบริษัทผลิตเยื่อได้เองจะมีต้นทุนวัตถุดิบในราคาที่ต่ำลง

  4. การพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม

    กลุ่มบริษัทฯ เชื่อว่าการพัฒนาธุรกิจต้องทำควบคู่กับการพัฒนาชุมชน และการรักษาสิ่งแวดล้อม

    ด้านการพัฒนาชุมชน :

    กลุ่มบริษัทมีพันธกิจสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการพัฒนาความรู้และส่งเสริมอาชีพให้แก่คนในชุมชน จัดกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์และรับซื้อสินค้าจากชุมชน เพื่อจัดทำเป็นของที่ระลึกของกลุ่มบริษัทเพื่อมอบในเทศกาลปีใหม่หรือในโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงและมีความภูมิใจในตนเอง นอกจากนั้น ยังพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานและโรงเรียนในชุมชนรอบสถานประกอบการของกลุ่มบริษัทอีกด้วย

    โดยในปี 2563 บริษัทได้ร่วมจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เอส.ที ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของชุมชนสาวเอ้, ชุมชนโนนกลาง, ชุมชนโนนเต่าทอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เนื่องจากความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทคือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ชุมชนข้างเคียง และพนักงานให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

    ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม :

    กลุ่มบริษัทดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการจัดการภายในโรงงาน ซึ่งใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิต และการจัดภูมิทัศน์รอบโรงงาน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้ชุมชน หน่วยงานราชการท้องถิ่น และพนักงานของกลุ่มบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน และสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนร่วมกัน

  5. การพัฒนาและบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม

    ความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มบริษัทให้ความสำคัญและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัทดำเนินงานด้วยความโปร่งใส โดยมีการเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ถือหุ้นทุกราย นอกจากนั้น ยังจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในโดยผู้ตรวจสอบอิสระภายในและภายนอกองค์กร เพื่อความถูกต้องและความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ

    โดยในปี 2563 บริษัทมีความมุ่งมั่นสานต่อการดำเนินตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน ตลอดจนการสื่อสารและประกาศเรื่องดังกล่าวไปยังคู่ค้าและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งได้จัดอบรมให้บุคลากรและรณรงค์ภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เปิดช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ (Whistleblowing) เพื่อรับข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านกล่องรับความคิดเห็นและทางไปรษณีย์ ซึ่งส่งถึงประธานกรรมการธรรมาภิบาลโดยตรง โดยในปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสีย

    นอกจากนั้น บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (BRR) ได้รับการรับรองต่ออายุสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2564 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัท ในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสสอดคล้องตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของบริษัท

    ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทได้รับผลประเมินระดับ “ดีเลิศ” หรือ “Excellent” จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ในปี 2561, 2562 และปี 2563 โดยปี 2563 มีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 94 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

    จากเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทั้ง 5 ด้านนั้น บริษัทจึงได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้อยู่ใน “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI” ประจำปี 2563 หรือ Thailand Sustainability Investment List 2020 ของกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เป็นครั้งแรก และเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน 124 บริษัท ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG) ในกระบวนการดำเนินงานมากขึ้น และบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อไป