Back

BRR กำไรพุ่งแรงเป็นประวัติการณ์

'บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR' โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/60 กำไรทะยานแรง 221 % รับผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูง เสริมด้วยอ้อยและผลผลิตน้ำตาลมากขึ้น ควบคู่กับโรงไฟฟ้าชีวมวลเดินเครื่องเต็มสูบ ส่วนยอดขายปุ๋ยก็ขยายตามพื้นที่ปลูกอ้อย พร้อมลุยขยายพื้นที่เพิ่มปริมาณอ้อยและน้ำตาลในหีบหน้า เร่งเจรจาพันธมิตรสร้างโรงงานแห่งใหม่ ขณะที่กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าฯ ใกล้คลอดภายในปีนี้

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 2,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีรายได้รวม 1,496 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.59 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 0.18 บาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 31 % ส่วนอัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 18.40 % จากปีก่อนที่ 8.37 %

กำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 1 เป็นผลมาจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ควบคู่กับความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากการเพิ่มประสิทธิผลการผลิต การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรนักธุรกิจชาวไร่อ้อยตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” ประกอบกับรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าและปุ๋ยก็ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับฤดูการผลิตปี 2559/60 ซึ่งปิดหีบไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถหีบอ้อยได้รวม 2.21 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่มีปริมาณอ้อย 2.06 ล้านตัน และได้ผลผลิตน้ำตาลทรายกว่า 251,000 ตัน ปัจจุบัน บริษัทยังมุ่งการพัฒนาด้านอ้อย การเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรและการขยายพื้นที่เพาะปลูก คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแตะ 3 ล้านตันในปีการผลิตหน้า

ขณะที่ทิศทางราคาน้ำตาลนั้นมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น หลังจากปัญหาภัยแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างอินเดีย จีน และไทยคลี่คลายลง คาดราคาน้ำตาลตลาดโลกปีนี้วิ่งอยู่ในช่วง 15-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ส่วนในปีการผลิตปัจจุบันนี้ บริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าไปเกือบหมดแล้วในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ และจะทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาสต่อๆ ไปตามสัญญาการส่งมอบน้ำตาล

นายอนันต์ ยังระบุด้วยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2561 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่ถือว่าเป็นตลาดน้ำตาลทรายที่มีพลวัตรสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความต้องการบริโภคปีละ 77 - 80 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 65 - 68 ล้านตัน และยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ปีละ 1.6 – 1.7%

นอกจากนี้ จากแผนการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยและปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นแตะ 3 ล้านตัน ทำให้บริษัทเตรียมลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงรอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลของภาครัฐ พร้อมกับเสริมว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีเสถียรภาพมากที่สุดอันหนึ่ง มีศักยภาพในการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรมชีวภาพที่กำลังเป็นกระแสของโลก

ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 คือ บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด (BPP) มีกำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ (MW) เท่าๆ กัน โดย โรงไฟฟ้า BEC และ BPC ขายไฟให้กับการไฟฟ้าโรงละ 8 เมกะวัตต์ (MW) รวม 16 เมกะวัตต์ (MW)

นายอนันต์ เสริมว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF นั้น ได้ส่งเรื่องให้ กลต. พิจารณาแล้ว และคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยเม็ดเงินที่ได้จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจต่อเนื่อง